โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล
จัดโครงการ ขับเคลื่อน “เมืองสุขภาพที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัย” เปิดตัวศูนย์ดูแลกลางวันต้นแบบ 1 อำเภอ 1 แห่ง
***********************
วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2568
โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการ “พัฒนาเมืองต้นแบบ เมืองสุขภาพที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัย” โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การจัดตั้ง “ศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุต้นแบบ” อย่างน้อย 1 แห่ง ต่อ 1 อำเภอ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการดูแลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่
พิธีเปิดโครงการเต็มไปด้วยความร่วมมืออันแข็งแกร่งและเริ่มต้นด้วยความสำเร็จอันน่าประทับใจด้วยการประชุมความร่วมมือและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับภาคีเครือข่ายสำคัญในจังหวัดอำนาจเจริญ โดยมี นายณรงค์ เทพเสนา ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยการกล่าวต้อนรับจาก คุณศิริลักษณ์ เกี่ยวข้อง รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล และแถลงข่าวเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกวุฒิสภาสัญจร พบประชาชนจังหวัดอำนาจเจริญ เข้าร่วมงานเพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยโครงการดังกล่าวมี อาจารย์ ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน ประธานบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาชุมชนสุขภาวะและความยั่งยืน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ
ภายในงานมีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับนวัตกรรมศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุจากตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังมีการชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ดูแลกลางวัน เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจถึงบทบาทและแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน และมีเวทีเสวนา ในหัวข้อ “แนวทาง การบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการฯ” โดยเปิดโอกาสให้ภาคียุทธศาสตร์ระดับจังหวัด
ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำเสนอแนวทางการสนับสนุนโครงการในด้านต่างๆ ทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และองค์ความรู้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีผู้ดำเนินรายการ ได้แก่ ดร.หนึ่งฤทัย เสนาราษฎร์ และ ดร.อรรถพงษ์ ฤทธิทิศ อาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ปิดท้ายด้วยการจัดทำแผนปฏิบัติการ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานในระยะยาว โดยมีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้แผนปฏิบัติการมีความครอบคลุมและสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ทั้งนี้ ภาคียุทธศาสตร์ระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ได้แก่
1) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอานาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล
2) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอานาจเจริญ
3) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอำนาจเจริญ
4) องค์การบริหารส่วนจังหวัดอานาจเจริญ
5) โรงพยาบาลอานาจเจริญ
6) สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดอานาจเจริญ
7) เทศบาลเมืองอานาจเจริญ
8)องค์การบริหารส่วนตำบลไร่สีสุก
9) องค์การบริหารส่วนตำบลคำโพน
10) องค์การบริหารส่วนตำบลไร่ขี
11) องค์การบริหารส่วนตำบลคำพระ
12) องค์การบริหารส่วนตำบลไม้กลอน
13) องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสาร