ปัจจุบันการเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จากปรากฏการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่มีความรุนแรงส่งผลกระทบ เป็นวงกว้างอันมีสาเหตุมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยเกิดจากการสั่งสมของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเป็นต้นเหตุของการเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและพาหะนำโรค นำมาซึ่งการเกิดโรคอุบัติใหม่ อีกทั้งยังถือได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคาม ต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากการพัฒนาประเทศต้องพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในปริมาณมากเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า การคมนาคม รวมไปถึงการขยายตัวของเมือง ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการใช้พลังงานมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2558)
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change, IPCC) ได้ทำการจำลองสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูงพบว่าเมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 อุณหภูมิพื้นผิวโลกจะเพิ่มขึ้นจากระดับเมื่อปี ค.ศ. 1980 – 1999 เฉลี่ยที่ 4.0 (2.4 - 6.4) องศาเซลเซียส ทั้งนี้ หากการละลายของแผ่นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์เกิดการละลายอย่างต่อเนื่อง หลังจากปี ค.ศ. 2100 จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นถึง 7 เมตร สร้างความเสียหายให้กับชายฝั่งทั่วโลกเป็นอย่างมาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงกล่าวถึงความสำคัญในการรักษาระดับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ยของโลกให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.0 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2565)
การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงต้องเกิดความร่วมมือในระดับโลก ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate) และพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี ค.ศ. 1994 และปี ค.ศ. 2002 ตามลำดับ และได้เข้าร่วมประชุมอย่างต่อเนื่องภายใต้การหารือความร่วมมือระดับโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงทำให้ประเทศไทย เกิดการดำเนินงานด้าน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551 - 2555” ขึ้นเป็นฉบับแรก เพื่อให้เกิดการดำเนินงานและสามารถนำไปปฎิบัติได้อย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 ขึ้น ซึ่งได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ทั้งนี้แผนในการดำเนินงานจะถูกนำไปใช้เป็นกรอบนโยบายของกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องต่อไป (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2558)
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) ที่องค์การบริหารจัดการ ก๊าซเรือนกระจก (อบก.) บนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ขององค์กร (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2564) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่แสดงข้อมูลปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas emissions and removals) ที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กร นำมาสู่การหา ค่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าและนำผลที่ได้ไปใช้สำหรับการบริหารจัดการ เพื่อดำเนินการลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรต่อไป (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, 2565)